ARTICLES ON BUDDHISM

ปฏิบัติกันเถิด

ท่านเจ้าพระคุณพระโพธิญาณเถร
(พระอาจารย์ชา สุภัทโท)

จงหายใจเข้า หายใจออก อยู่อย่างนั้นแหละ อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น ใครจะยืนเอาก้นขึ้นฟ้าก็ช่าง อย่าไปเอาใจใส่ อยู่แต่กับลมหายใจเข้าออก ให้ความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ เอาอยู่เท่านี้แหละ ไม่ไปเอาอะไรอื่น ไม่ต้องคิดว่าจะเอานั่น เอานี่ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ให้รู้จักแต่ลมเข้า ลมออก ลมเข้า ลมออก พุท เข้า โธ ออก อยู่กับลมหายใจอย่างนี้แหละ เอาอันนี้เป็นอารมณ์

ให้ทำอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก ลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก ให้รู้จักอยู่อย่างนั้น จนจิตสงบ หมดความรำคาญ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหนทั้งนั้น ให้มีแต่ลมออก ลมเข้า ลมออก ลมเข้าอยู่เท่านั้น ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ ยังไม่ต้องมีจุดหมายอะไรหรอก นี่แหละเบื้องแรกของการปฏิบัติ ถ้ามันสบาย ถ้ามันสงบ มันก็จะรู้จักของมันเอง ทำไปเรื่อยๆ ลมก็จะน้อยลง อ่อนลง กายก็จะอ่อน จิตก็อ่อน มันเป็นไปตามเรื่องของมันเอง นั่งก็สบาย ไม่ง่วง ไม่โงก ไม่หาวนอน จะเป็นอย่างใด ดูมันคล่องของมันเองไปทุกอย่าง นิ่ง สงบจนพอ ออกจากสมาธิจึงมานึกว่า “บ๊ะ มันเป็นอย่างใดน้อ” แล้วก็นึกถึงความสงบ อันนั้นไม่ลืมสักที

สิ่งที่ติดตามเรา เรียกว่าสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เราจะพูดอะไร จะทำอะไร จะไปนั่น จะมานี่ จะไปบิณฑบาตก็ดี จะฉันจังหันก็ดี จะล้างบาตรก็ดี ก็ให้รู้จักเรื่องของมัน ให้มีสติอยู่เสมอ ติดตามมันไป ให้ทำอยู่อย่างนี้

เมื่อจะเดินจงกรม ก็ให้มีทางเดินสักทางหนึ่ง จากต้นไม้ต้นนี้ ไปสู่ต้นไม้ต้นนั้นก็ได้ ให้ระยะทางมันยาวสัก ๗ – ๘ วา เดินจงกรมมันก็เหมือนกับทำสมาธิ ให้กำหนดความรู้สึกขึ้นในใจว่า “บัดนี้ เราจะทำความเพียร จะทำจิตให้สงบ มีสติสัมปชัญญะ ให้กล้า” การกำหนดก็แล้วแต่ละคน ตามใจ บางคนก่อนออกเดิน ก็แผ่เมตตาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงสารพัดอย่าง แล้วก็ก้าวเท้าขวาออกก่อน ให้พอดี พอดี ให้นึก “พุทโธ พุทโธ” ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้ในอารมณ์นั้นไปเรื่อย ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่าน หยุดให้มันสงบ ก้าวเดินใหม่ ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อยๆ ต้นทางออกก็รู้ รู้จักหมด ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทำความรู้นี้ให้ติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ

นี่เป็นวิธีทำ กำหนดเดินจงกรม เดินจงกรมก็คือเดินกลับไป กลับมา เดินจงกรมไม่ใช่ของง่ายนะ บางคนเห็นเดินกลับไปกลับมา เหมือนคนบ้า แต่หารู้ไม่ว่าการเดินจงกรมนี้ทำให้เกิดปัญญานักละ เดินกลับไป กลับมา ถ้าเหนื่อยก็หยุดกำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย เมื่อสบายพอควรแล้วก็ทำความรู้สึกการเดินอีก แล้วอิริยาบถมันก็เปลี่ยนไปเองหรอก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันเปลี่ยน คนเราจะนั่งรวดเดียวไม่ได้ ยืนอย่างเดียวไม่ได้ นอนอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องอยู่ตามอิริยาบถเหล่านี้ ทำอิริยาบถทั้ง สี่นี้ให้มีประโยชน์ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ นี่คือการทำ ทำไป ทำไป มันไม่ใช่ของง่ายๆหรอก

ถ้าจะพูดให้ดูง่ายๆ ก็ นี่ เอาแก้วใบนี้ตั้งไว้นี่สองนาที ได้สองนาทีก็ย้ายไปตั้งไว้นั่น ตั้งไว้นั่นสองนาที แล้วก็เอามาตั้งไว้นี่ ให่ทำอยู่อย่างนี้ ทำ ทำ ทำ จนให้มันทุกข์ ให้มันสงสัย ให้มันเกิดปัญญาขึ้น “นี่คิดอย่างใดน้อ แก้วยกไป ยกมา เหมือนคนบ้า” มันก็จะคิดของมันไปตามเรื่อง ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ยกอยู่อย่างนั้น สองนาทีน่ะอย่าเผลอ ไม่ใช่ห้านาที พอสองนาทีก็เอามาตั้งไว้ที่นี่ กำหนดอยู่อย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของการกระทำ

จะดูลมหายใจเข้าออกก็เหมือนกัน ให้นั่งขาขวาทับขาซ้าย ให้ตัวตรง สูดลมเข้าไปให้เต็มที่ ให้หายลงไปให้หมดท้อง สูดเข้าให้เต็ม แล้วปล่อยออกให้หมดปอด อย่าไปบังคับมัน ลมจะยาวแค่ไหน จะสั้นแค่ไหน จะค่อยแค่ไหนก็ช่างมัน ให้พอดีๆกันเรา นั่งดูลมเข้า ลมออก ให้สบายอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันหลง ถ้าหลง หยุด ดูว่ามันไปไหน มันจึงไม่ตามลม ให้หามันกลับมา ให้มันมาแล่นอยู่ตามลมอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็จะพบของดีสักวันหนึ่งหรอก ให้ทำอยู่อย่างนั้น ทำเหมือนกับว่า จะไม่ได้อะไร ไม่เกิดอะไร ไม่รู้ว่าใครมาทำ แต่ก็ทำอยู่เช่นนั้น เหมือนข้าวอยู่ในฉาง แล้วเอาไปหว่านลงดิน ทำเหมือนจะทิ้ง หว่านลงในดินให้ทั่ว โดยไม่สนใจ มันกลับเกิดหน่อ เกิดกล้า เอาไปดำ กลับได้กินข้าวเม่าขึ้นมา นั้นแหละเรื่องของมัน

อันนี้ก็เหมือนกัน นั่งเฉยๆ บางครั้งก็นึกว่า “จะนั่งเฝ้าดูมันทำไมนะลมนี่น่ะ ถึงไม่เฝ้ามัน มันก็ออกก็เข้าของมันอยู่แล้ว” มันก็หาเรื่องคิดไปเรื่อยแหละ มันเป็นความเห็นของคน เรียกว่าอาการของจิต ก็ช่างมัน พยายามทำไป ทำไป ทำไป ให้มันสงบ เมื่อมันสงบแล้ว ลมจะน้อยลง ร่างกายก็อ่อนลง จิตก็อ่อนลง มันจะอยู่พอดีของมัน จนกระทั่งว่านั่งอยู่เฉยๆ เหมือนไม่มีลมหายใจเข้าออก แต่มันก็ยังอยู่ได้ ถึงตอนนี้ อย่าตื่น อย่าวิ่งหนี เพราะคิดว่า เราหยุดหายใจแล้ว นั่นแหละ มันสงบแล้ว ไม่ต้องทำอะไร นั่งเฉยๆ ดูมันไปอย่างนั้นแหละ บางทีจะคิดว่า “เอ เรานี่หายใจหรือเปล่านี่” อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน มันคิดไปอย่างนั้น แต่อย่างไรก็ช่างมัน ปล่อยไปตามเรื่องของมัน ไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้น ให้มันรู้ ดูมัน แต่อย่าไปหลงใหลกับมัน

ทำไป ทำให้บ่อยๆไว้ ฉันจังหันเสร็จ เอาจีวรไปตาก แล้วเดินจงกรมทันที นึก “พุทโธ พุทโธ พุทโธ” ไว้ นึกไปเรื่อยตลอดเวลาเดิน เดินไปนึกไป ให้ทางมันสึกลึกไปสักครึ่งแข้ง หรือถึงหัวเข่า ก็ให้เดินอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่เดินยอกแยก ยอกแยก คิดโน่น คิดนี่ เที่ยวเดียวแล้วเลิก ขึ้นกุฏิ มองดูพื้นกระดาน “เออ มันน่านอน” ก็ลงนอน กรนครอกๆ อย่างนี้ก็ไม่เห็นอะไรเท่านั้น ทำไปจนขี้เกียจทำ ขี้เกียจมันจะไปสิ้นสุดที่ไหน ที่สุดของขี้เกียจ มันจะอยู่ตรงไหน มันจะเหนื่อยตรงไหน มันจะเป็นอย่างไร ก็ให้ถึงที่สุดของมันจึงจะได้ ไม่ใช่มาพูดบอกตัวเองว่า “สงบ สงบ สงบ” แล้วพอนั่งปุ๊บ ก็จะให้มันสงบเลย ครั้นมันไม่สงบอย่างคิด ก็เลิกขี้เกียจ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีวันได้สงบ แต่พูดมันง่าย หากทำแล้วมันก็ยากเหมือนกับพูดว่า “ฮึ ทำนาไม่เห็นยากเลย ไปทำนาดีกว่า” ครั้นพอไปทำนาเข้า วัวก็ไม่รู้จัก ควายก็ไม่รู้จัก คราด ไถ ก็ไม่รู้จักทั้งนั้น เรื่องการทำไร่ ทำนานี่ ถ้าแค่พูดก็ไม่ยาก แต่พอลงมือทำจริงๆ ซิ จึงรู้ว่ามันยากอย่างนี้เอง

หาความสงบอย่างนี้ ใครๆก็อยากสงบด้วยกันทั้งนั้น ความสงบมันก็อยู่ตรงนั้นแหละ แต่เราไม่ทันจะรู้จักมัน จะถาม จะพูดกันสักเท่าไหร่ ก็ไม่รู้จักขึ้นมาได้หรอก ฉะนั้น ให้ทำ ให้ตามรู้จักให้ทันว่า กำหนดลมเข้า ออก กำหนดว่า “พุทโธ พุทโธ” เอาเท่านั้นแหละ ไม่ให้คิดไปไหนทั้งนั้น ในเวลานี้ ให้มีความรู้อยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ ให้เรียนอยู่เท่านี้แหละ ให้ทำไป ทำไป อย่างนีแหละ จะนึกว่า “ทำอยู่นี่ก็ไม่เห็นมันเป็นอะไรเลย” ไม่เป็นก็ให้ทำไป ไม่เห็นก็ให้ทำไป ให้ทำไปอยู่นั่นแหละ แล้วเราจะรู้จักมัน

เอาละ ที่นี้ลองทำดู ถ้าเรานั่งอย่างนี้ แล้วมันรู้เรื่อง ใจมันก็พอดี๊ พอดี พอจิตสงบแล้ว มันก็รู้เรื่องของมันเองดอก ต่อให้นั่งตลอดคืนจนสว่าง ก็จะไม่รู้สึกว่านั่งเพราะมันเพลิน พอเป็นอย่างนี้ ทำได้ดีแล้ว อาจจะอยากเทศน์ให้หมู่พวกฟังจนคับวัดคับวาไปก็ได้ มันเป็นอย่างนี้ก็มี เหมือนอย่างตอนที่พ่อสางเป็นผ้าขาว คืนหนึ่งเดินจงกรม แล้วนั่งสมาธิ มันเกิดแตกฉานขึ้นมา อยากเทศน์ เทศน์ไม่จบ เราได้ยินเสียง นั่งฟังเสียงเทศน์ “โฮ้ว โฮ้ว โฮ้ว” อยู่ที่กอไผ่โน่น ก็นึกว่า “นั่นผู้ใดน้อ เทศน์กันกับใคร หรือว่าใครมานั่งบ่นอะไรอยู่” ไม่หยุดสักที ก็เลยถือไฟฉายลงไปดู ใช่แล้ว ผ้าขาวสาง มีตะเกียงจุด นั่งขัดสมาธิอยู่ใต้กอไผ่ เทศน์เสียจนฟังไม่ทัน ก็เรียกว่า “สาง เจ้าเป็นบ้าหรือ” เขาก็ตอบว่า”ผมไม่รู้เป็นอย่างไร มันอยากเทศน์ นั่งก็ต้องเทศน์ เดินก็ต้องเทศน์ ไม่รู้ว่ามันจะไปจบที่ไหน” เราก็นึกว่า”เฮอ คนนี่ มันเป็นไปได้ทั้งนั้น เป็นไปได้สารพัดอย่าง”

ฉะนั้น ให้ทำ อย่าหยุด อย่าปล่อยไปตามอารมณ์ ให้ฝืนทำไป ถึงจะขี้คร้านก็ให้ทำ จะขยันก็ให้ทำ จะนั่งก็ทำ จะเดินก็ทำ เมื่อจะนอน ก็ให้กำหนดลมหายใจว่า “ข้าพเจ้าจะไม่เอาความสุขในการนอน” สอนจิตไว้อย่างนี้ พอรู้สึกตัวตื่น ก็ให้ลุกขึ้นมาทำความเพียรต่อไป เวลาจะกินก็ให้บอกว่า “ข้าพเจ้าจะบริโภคอาหารนี้ ไม่ได้บริโภคด้วยตัณหา แต่เพื่อเป็นยาปรมัตถ์ เพื่อความอยู่รอดในมื้อหนึ่ง วันหนึ่ง เพื่อให้ประกอบความเพียรได้เท่านั้น” เวลาจะนอนก็สอนมัน เวลาจังหันก็สอนมัน ให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย จะยืนก็ให้รู้สึก จะนอนก็ให้รู้สึก จะทำอะไรสารพัดอย่าง ก็ทำอย่างนั้น

เวลาจะนอน ให้นอนตะแคงขวา กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ “พุทโธ พุทโธ”จนกว่าจะหลับ ครั้นตื่นก็เหมือนกันมี “พุทโธ”อยู่ ไม่ได้ขาดตอนเลย จึงจะเป็นความสงบเกิดขึ้นมา มันเป็นสติอยู่ตลอดเวลา อย่าไปมองดูผู้อื่น อย่าไปเอาเรื่องของผู้อื่น ให้เอาแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น

การนั่งสมาธินั้น นั่งให้ตัวตรง อย่าเงยหน้ามากไป อย่าก้มหน้ามากไป เอาขนาดพอดี เหมือนพระพุทธรูปนั่นแหละ มันจึงสว่างไสวดี ครั้นเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ให้อดทนจนสุดขีดเสียก่อน ปวดก็ให้ปวดไป อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยน อย่าคิดว่า “บ๊ะ ไม่ไหวแล้ว พักก่อนเถอะน่า” อดทนมันจนปวดถึงขนาดก่อน พอมันถึงขนาดนั้นแล้ว ก็ให้ทนต่อไปอีก ทนไป ทนไป จนมันไม่มีแก่ใจจะว่า “พุทโธ” เมื่อไม่ว่า “พุทโธ” ก็เอาตรงที่มันเจ็บนั่นแหละ “อุ๊ย เจ็บ เจ็บแท้ๆหนอ” เอาเจ็บนั่นมาเป็นอารมณ์แทน “พุทโธ”ก็ได้ กำหนดให้ติดต่อกันไปเรื่อย นั่งไปเรื่อย ดูซิว่ามันปวดจนถึงที่สุดแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น

พระพุทธเจ้าท่านว่า มันเจ็บเอง มันก็หายเอง ให้มันตายไปก็อย่าเลิก บางครั้งมันเหงื่อแตกเม็ดโป้งๆ เท่าเม็ดข้าวโพด ไหลย้อยมาตามอก ถ้าครั้นทำจนมันได้ข้ามเวทนาอันหนึ่งแล้ว มันก็รู้เรื่องเท่านั้นแหละ ให้ค่อยทำไปเรื่อยๆ อย่าเร่งรัดตัวเองเกินไป ให้ค่อยทำ ทำไป

ฉันจังหันอยู่ก็ให้รู้จัก เมื่อเคี้ยวกลืนลงไปน่ะ มันลงไปถึงไหน อาหารที่แสลงโรค มันผิดหรือถูกกับธาตุขันธ์ก็รู้จักหมด ฉันจังหันก็ลองกะดู ฉันไป ฉันไป กะดูว่าอีกสักห้าคำจะอิ่ม ก็ให้หยุดเสีย แล้วดื่มน้ำเข้าไป ก็จะอิ่มพอดี ลองทำดูซิว่าจะทำได้หรือไม่ แต่คนเรามันไม่เป็นอย่างนั้น พอจะอิ่ม ก็ว่า “เติมอีกสักห้าคำเถอะ” มันว่าไปอย่างนั้น มันไม่รู้จักสอนตัวเองอย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านให้ฉันไป กำหนดดูไป ถ้าพออีกสักห้าคำจะอิ่มก็หยุด ดื่มน้ำเข้าไปมันก็จะพอดี จะไปเดิน ไปนั่ง มันก็ไม่หนักตัว ภาวนาก็ดีขึ้น แต่คนเรามันไม่อยากทำอย่างนั้น พออิ่มเต็มที่แล้ว ยังเติมเข้าไปอีกห้าคำ มันเป็นอย่างนั้น เรื่องของกิเลสตัณหากับเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านสอน มันไปคนละทาง ถ้าคนที่ไม่ต้องการฝึกจริงๆแล้ว ก็จะทำไม่ได้ ขอให้เฝ้าดูตนเองไปเถิด

ทีนี้เรื่องนอน ก็ให้ระวัง มันขึ้นอยู่กับการที่เราจะต้องรู้จักอุบายของมัน บางครั้งอาจจะนอนไม่เป็นเวลา นอนหัวค่ำบ้าง นอนสายบ้าง แต่ลองเอาอย่างนี้ จะนอนดึก นอนหัวค่ำก็ช่างมัน แต่ให้นอนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น พอรู้สึกตัวตื่นให้รีบลุกขึ้นทันที อย่ามัวเสียดายการนอน เอาเท่านั้น เอาครั้งเดียว จะนอนมาก นอนน้อย ก็เอาครั้งเดียวให้ตั้งใจไว้ว่า พอรู้สึกตัวตื่น ถึงนอนไม่อิ่มก็ลุกขึ้น ไปล้างหน้า แล้วก็เดินจงกรม หรือนั่งสมาธิไปเลย ให้รู้จักฝึกตัวอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่จะรู้เพราะคนอื่นบอก จะรู้ได้เพราะการฝึกการปฏิบัติ การกระทำ จึงให้ทำไปเลย

เรื่องการทำจิตนี้เป็นเรื่องแรก ท่านเรียกว่าทำกรรมฐาน เวลานั่งให้จิตมีอารมณ์เดียวเท่านั้น ให้อยู่กับลมเข้า ลมออก แล้วจิตก็จะค่อยสงบไปเรื่อยๆ ถ้าจิตวุ่นวาย ก็จะมีหลายอารมณ์ เช่นพอนั่งปุ๊บ โน่น คิดไปบ้านโน่น บ้างก็อยากกินก๋วยเตี๋ยว บวชใหม่ๆ มันก็หิวนะ อยากกินข้าว กินน้ำ คิดไปทั่ว หิวโน่น อยากนี่ สารพัดอย่างนั่นแหละ มันเป็นบ้า จะเป็นก็ให้มันเป็นไป เอาชนะมันได้เมื่อไหร่ ก็หายเมื่อนั้น

ให้ทำไปเถิด เคยเดินจงกรมบ้างไหม เป็นอย่างไร ขณะที่เดิน จิตกระเจิดกระเจิงไปหรือ ก็หยุดมันซิ ให้มันกลับมา ถ้ามันไปบ่อยๆ กลั้นใจเข้า พอใจจะขาด มันก็ต้องกลับมาเองไม่ว่ามันจะเก่งปานใด นั่งให้มันคิดทั่วทิศทั่วแดนดูเถอะ กลั้นใจเอาไว้อย่าหยุด ลองดู พอใจจะขาด มันก็กลับมา จงทำใจให้มีกำลัง

การฝึกจิตไม่เหมือนฝึกสัตว์ จิตนี่เป็นของฝึกยากแท้ๆ แต่อย่าไปท้อถอยง่ายๆ ถ้ามันคิดไปทั่วทิศ ก็กลั้นใจมันไว้ พอใจมันจะขาด มันก็คิดอะไรไม่ออก มันก็วิ่งกลับมาเอง ให้ทำไปเถอะ

ในพรรษานี้ทำให้มันรู้เรื่อง กลางวันก็ช่าง กลางคืนก็ตาม ให้ทำไป แม้จะมีเวลาสักสิบนาทีก็ทำ กำหนดทำไปเรื่อยๆ ให้ใจมันจดจ่อ ให้มีความรู้สึกอยู่เสมอ อยากจะพูดอะไรก็อย่าพูด หรือกำลังพูดก็ให้หยุด ให้ทำอันนี้ให้ติดต่อกันไว้ เหมือนอย่างกับน้ำในขวดนี่แหละ ครั้นเรารินมันทีละน้อย มันก็จะหยด นิด นิด นิด พอเราเร่งรินให้เร็วขึ้น มันก็จะไหลติดต่อเป็นสายน้ำเดียวกัน ไม่ขาดตอนนเป็นหยดเหมือนเวลาที่เรารินทีละน้อยๆ

สติของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเร่งมันเข้า คือปฏิบัติให้สม่ำเสมอแล้ว มันก็จะติดต่อกันเป็นสายน้ำ ไม่เป็นน้ำหยด หมายความว่า ไม่ว่าเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ความรู้อันนี้ มันไม่ขาดจากกัน มันจะไหลติดต่อกันเป็นสายน้ำ การปฏิบัติจิตก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวมันคิดนั่น คิดนี่ ฟุ้งซ่าน ไม่ติดต่อกัน มันจะคิดไปไหนก็ช่างมัน ให้เราพยายามทำให้เรื่อยเข้าไว้ แล้วมันจะเหมือนหยดแห่งน้ำ มันจะทำความห่างให้ถี่ ครั้นถี่เข้าๆ มันก็ติดกันเป็นสายน้ำ ทีนี้ความรู้ของเราจะเป็นความรู้รอบ จะยืนก็ตาม จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม จะเดินก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไรสารพัดอย่างมันก็มีความรู้อันนี้รักษาอยู่

ไปทำเสียแต่เดี๋ยวนี้นะ ไปลองทำดูแต่อย่าไปเร่งให้มันเร็วนักล่ะ ถ้ามัวแต่นั่งคอยอยู่ว่า มันจะเป็นอย่างไรละก็ มันไม่ได้เรื่องหรอก แต่ให้ระวังด้วยนะว่า ตั้งใจมากเกินไปก็ไม่เป็น ไม่ตั้งใจเลย ก็ไม่เป็น แต่บางครั้ง เราไม่ได้ตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิหรอก เมื่อเสร็จงานก็นั่งทำจิตให้ว่างๆ มันก็พอดีขึ้นมา ปั๊บ ดีเลย สงบ ง่ายอย่างนี้ก็มี ถ้าทำให้มันถูกเรื่อง

หมดแล้ว เอาละ เอาปานนี้ละ